Van Cleef & Arpels เผยโฉม Treasure Island คอลเลกชั่นเครื่องประดับชั้นสูงที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวการผจญภัยในหนังสือนิยาย ‘เกาะมหาสมบัติ’ หรือ ‘Treasure Island’ (สำหรับนิยายแปลภายใต้ชื่อ ‘ล่าขุมทรัพย์เกาะมหาสมบัติ’) หนังสืออ่านนอกเวลาประเภทระทึกขวัญ และผจญภัยงานผลงานการประพันธ์โดยโรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน นักเขียน และกวีชาวสก็อตแลนด์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1883 ความประทับใจในเนื้อหาของนวนิยายชิ้นนี้ นำไปสู่จินตนาการร่วมกันระหว่างทีมนักออกแบบ ช่างศิลป์งานฝีมือ และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ของเมซง รังสรรค์ชิ้นงานเครื่องประดับที่เต็มไปด้วยงานหัตถศิลป์หลากหลายแขนงผสมผสานร้อยเรียงเรื่องราวการเดินทางผจญภัยครั้งใหม่ มุ่งหน้าสู่เกาะมหาสมบัติท่ามกลางธรรมชาติชวนฝันจนถึงสุดเขตแดนอันเต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม
“เกาะมหาสมบัติของโรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสันเป็นหนังสือนิยายอันเปี่ยมพลังมหาศาลในการใช้จินตนาการ และพรสวรรค์ทางวรรณศิลป์เพื่อถ่ายทอดมาสู่ถ้อยคำปลุกเร้าให้เกิดอารมณ์ร่วม สร้างความทรงจำประทับใจให้แก่ผู้อ่านนับล้านทั่วโลก อีกทั้งยังส่งอิทธิพลต่องานศิลปะหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม บทกวี หรือกระทั่งมัณฑนศิลป์ และสำหรับ Van Cleef & Arpels นั้น เราได้รังสรรค์เรื่องราวของเกาะมหาสมบัตินี้ขึ้นใหม่ในบริบทอันเต็มไปด้วยความสนุกสาน บันเทิงใจผ่านงานออกแบบคอลเลกชั่นเครื่องประดับชั้นสูง ซึ่งผมเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความสุขในหัวใจ” Nicolas Bos ประธานบริษัท และประธานคณะกรรมการผู้บริหาร Van Cleef & Arpels
คอลเลกชั่นเกาะมหาสมบัติจากจินตนาการของ Van Cleef & Arpels คือการหลอมรวมภูมิทัศน์บรรยากาศตามลำดับการเดินทาง และความตระการตาของสมบัติล้ำค่าจากทั่วทุกมุมโลกมาแบ่งเรื่องราวสอดคล้องไปกับมหากาพย์การผจญภัยแบ่งเป็นสามองก์
ในองก์แรก Van Cleef พาเราออกเดินทางสู่ห้วงมหาสมุทรกว้างไกล แรงบันดาลใจจากปมเชือกขึงใบเรือไปจนถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่ร่วมกันสะท้อนถึงศิลปะการเดินทาง ความงดงามของห้วงน้ำกลางมหาสมุทร นำมาซึ่งสีฟ้าหลากเฉด จากฟ้าสดของเทอร์ควอยซ์ไล่ระดับเฉดโทนไปจนถึงสีเขียวของมรกต เช่นเดียวกับประกายระยับแสงสะท้อนจากแสงอาทิตย์ยามบ่ายไปจนถึงแสงจันทร์สว่างนวลตาเหนือผิวน้ำเยือกเย็น สงบนิ่งยามค่ำคืน
ในขณะที่องก์สองอาศัยงานออกแบบจำลองชีวิตธรรมชาติ อันเป็นอีกแนวโปรดของ Van Cleef & Arpels ความหรูหราปรากฏรูปลักษณ์อันหลากหลายด้วยเปลือกหอยสีเหลือบรุ้ง ความอ่อนช้อยของมวลดอกไม้ท่ามกลางแมกไม้ตระหง่านสูงสลับโทน
บทส่งท้ายในองก์สาม ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวการไล่ล่าหาสมบัติทั่วโลก จากความอลังการของวัฒนธรรมพื้นเมืองยุคก่อนโคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา จนไปถึงอารยนิมิตบูรพาแห่งเอเชีย ล้วนถูกรังสรรค์มาสู่บรรดาผลงานเครื่องประดับสุดวิจิตรบรรจง
ด้วยงานออกแบบโครงสร้างที่ง่ายต่อการแยกชิ้นส่วน เข็มกลัด Palmier Mystérieux ถือเป็นบทสรุปเรื่องราวทั้งสามองก์โดยอาศัยโมทิฟเรือใบฝังเพชร พระอาทิตย์ทองคำ และหีบสมบัติล้ำค่า ที่สามารถสลับสับเปลี่ยนได้ตามต้องการกับตัวเรือนหลักประดับปาล์มคู่ตระหง่านลำต้นอ่อนช้อยแผ่ใบเป็นวงกว้างฝังมรกตซ่อนหนามเตยหรือ Mystery Set เทคนิคเฉพาะของ Van Cleef & Arpels ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรคุ้มครองเมื่อปีค.ศ. 1933 ในฐานะตัวแทนไหวพริบทางการพลิกแพลงทักษะความชำนาญต่างแขนง จากการคัดเลือก และเทียบสีไปจนถึงเจียระไนรูปทรงพิเศษสำหรับขึ้นตัวเรือนเพื่อให้อัญมณีแต่ละเม็ดเรียงประกบชิดขอบ กลบชิ้นส่วนโลหะตัวเรือนรองล่างอย่างหมดจดจนไม่ปรากฏต่อสายตาดังเช่นมรกตสีเขียวเข้มละมุนดุจกำมะหยี่ถูกจัดวางอย่างตระการตาบนยอดไม้ เช่นเดียวกับที่แผ่นแม่ลาย หรือโมทิฟรูปหีบสมบัติทำจากประติมากรรมโรสโกลด์ ประกาศถึงความเป็นเลิศทางงานฝีมือช่างทองของเมซง ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคขัดผิว งานค้อนดุนลาย งานสลักลายคิ้วนูนเดินขอบ ตลอดจนงานลูกปัดทองสกาวแสง
องก์ที่ 1 ผจญภัยกลางทะเลหรือ Adventure at sea:
เข็มกลัดเรือใบสเปน Hispaniola (เอสปานิโญลา) ตัวเรือนไวท์โกลด์และโรสโกลด์ประดับเพชร
จากบันทึกประวัติศาสตร์ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสตั้งชื่อเกาะกลางทะเลที่เขาค้นพบ และและประกาศให้เป็นส่วนหนึ่งในอาณานิคมของสเปนเมื่อปีค.ศ. 1492 ว่า ‘เอสปานิโญลา’ โดยสันนิษฐานว่าเป็นชื่อเดียวกับเรือใบเดินสมุทร ซึ่งแปลว่า ‘ของสเปน’ หรือ ‘ชาวสเปน’ และได้รับการรังสรรค์มาสู่เข็มกลัดกางใบงามสง่า พร้อมพุ่งทะยานท้าเกลียวคลื่นสู่เกาะมหาสมบัติ ขนาด และความสลับซับซ้อนของใบเรือไวท์โกลด์ฝังเพชรด้วยลูกเล่นเรียงแถวทั้งแนวตั้ง และแนวนอน นำมาซึ่งผลลัพธ์สามมิติเสมือนผ้าลินินใบเรือในยุคนั้นได้อย่างสมจริง ไหวพริบในการคำนวณ และจัดตำแหน่งโมทิฟใบเรือแต่ละชิ้นให้ซ้อนสลับระหว่างแผ่นแม่ลายฝังเพชรเรียวแถวแนวตั้งกับแนวนอน อำนวยต่อการถ่ายทอดอากัปรับแรงลมเป็นพลังขับเคลื่อนตัวเรือโลหะสลักลายริ้วยาว จำลองแบบงานต่อแผ่นไม้กระดานโครงสร้างตัวเรือขนาดกลาง ตัดกับงานขัดผิวเรียบเนียนทอประกายสุกสกาวของเครื่องเสาหัวเรือที่เติมเต็มความสมบูรณ์แบบสุดยิ่งยงให้แก่เรือใบสเปนเอสปานิโญลา อันยิ่งใหญ่
สร้อยคอ Écume Mystérieuse (ฟองคลื่นซ่อนหนามเตย) ตัวเรือนไวท์โกลด์และโรสโกลด์ประดับเพชร และฝังไพลินแบบซ่อนหนาม
สร้อยคอ Écume Mystérieuse ถือเป็นผลงานอ้างอิงถึงจิตรกรรมทะเลทัศน์ อันได้รับความนิยมอย่างยิ่งระหว่างศตวรรษที่ 19 ช่วงเวลาเดียวกับครั้งโรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสันกำลังเขียนนิยายเรื่องเกาะมหาสมบัติ แต่ละรายละเอียดบนตัวเรือนสร้อยคอคือบทจำลองอย่างสมจริงของเกลียวคลื่น พรายฟอง และละอองน้ำสาดกระเซ็น ซึ่งล้วนแสดงให้ประจักษ์ถึงพลังแห่งมหาสมุทรได้อย่างแยบคาย เป็นดั่งบทบรรจบระหว่างงานออกแบบลายซ้ำกับการใช้สัดส่วนอสมมาตร นำมาซึ่งโมทิฟเกลียวคลื่นขดวนทำจากไวท์โกดล์ฝังเพชรไล่ลำดับขนาดตัดกับสายน้ำสีน้ำเงินเข้มของงานฝังไพลินซ่อนหนามเตยตลอดครึ่งวงโครงสร้างตัวเรือน ส่วนอีกครึ่งนั้นคืองานฝังเพชรลูกเรียงแถวเดี่ยวประกบขนานสามแนวเพื่อเติมเต็มกลไกเปิด และปิดในการสวมใส่ตรงตำแหน่งท้ายทอยโดยมีงานประดับเพชรน้ำทรงกลมกับไพลินสีฟ้ากระจ่างทรงกลมต่างกระเซ็นละอองน้ำของฟองคลื่นเติมความวิจิตรบรรจง งดงามในทุกรายละเอียด
องก์ที่ 2 สำรวจเกาะ หรือ Exploring the island:
เข็มกลัด Coquillage Mystérieux (เปลือกหอยซ่อนหนามเตย) ตัวเรือนไวท์โกลด์ เยลโลวโกดล์ และโรสโกลด์ มาพร้อมเทคนิคซ่อนหนามเตยฝังทับทิมเจียระไนยกหน้าตัดร่วมกับงานประดับมรกต ทับทิม ไข่มุกเลี้ยงสีขาว เพชรสีชมพูและสีขาว
เข็มกลัด Coquillage Mystérieux ถือเป็นผลงานประติมากรรมสัจนิยม ถ่ายทอดแง่มุมทุกมิติของฝาเปลือกหอยธรรมชาติมาสู่ตัวเรือนเครื่องประดับล้ำค่าได้อย่างหมดจด เปลือกโค้งซึ่งอาศัยเทคนิคซ่อนหนามเตยฝังทับทิมสีแดงสดทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสเจียระไนยกหน้าตัดร่วมกับงานฝังเพชรเหลี่ยมเกสรเดินขอบ และตัดลายแง่สบเปลือกหอยแผ่วงรัศมีดุจพัดคลี่ ในขณะที่ส่วนขั้วเปลือกต้องแสงทอประกายสลับเฉดระยิบระยับจากงานฝังเพชรสีขาวร่วมกับเพชรสีชมพู ทั้งด้านหน้าชิ้นงานยังเป็นเสมือนเวทีระดมหลากเทคนิคการฝังอัญมณี ไม่ว่าจะเป็นฝังจิกไข่ปลา ฝังจม ฝังสอด ฝังหุ้มหัวท้าย หรือกระทั่งฝังหุ้มมุมเหลี่ยม และเมื่อพลิกกลับไปด้านหลัง แอ่งเว้าฝาในของเข็มกลัดเปลือกหอยพลันสะท้อนถึงความวิจิตรบรรจงต่อเนื่องมาจากโค้งฝา โครงสร้างโลหะตัวกลัดทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าประหนึ่งกรอบล้อมประติมากรรมนางอัปสรไวท์โกดล์ถือมรกตไว้ด้วยสองมือ ยืนอยู่บนไข่มุกเลี้ยงขาวกระจ่างกลางแนวปะการังทำจากเยลโลวโกลด์ดุนลายประดับเพชร
เข็มกลัด Tortue de Cocos bleue (เต่าทะเลสีคราม) ตัวเรือนไวท์โกลด์ประดับไพลิน มรกตและเพชร
ชื่อเข็มกลัด Tortue de Cocos bleue สื่อถึงเกาะแห่งหนึ่งท่ามกลางเวิ้งทะเลสีครามห่างออกมาจากชายฝั่งคอสตาริกา ความวิจิตรตระการตาของผลงานชิ้นนี้อยู่ที่ไหวพริบทางหัตถศิลป์ในงานจำลองแง่มุมต่างๆ ของโค้งกระดองเต่ามาอย่างครบถ้วนสามมิติด้วยงานฝังไพลินสีน้ำเงินครามเจียระไนทรงวงรีไล่เรียงราวกับงานต่อลายโมเสกบนโครงสร้างตัวเรือนเปิดโปร่งช่วยให้แสงส่องผ่านเร่งความกระจ่างใสของเนื้อพลอยให้จรัสประกายสุกสว่างเรืองรอง ในขณะที่ชิ้นส่วนครีบขาทั้งสี่เป็นงานออกแบบโมทีฟลายลักษณ์เสมือนจริง อาศัยลูกเล่นฝังเพชรเจียระไนต่างรูปทรง นั่นคือเพชรกลมกับเหลี่ยมบาแก็ตต์มอบรายละเอียดของลายกระบนพังผืด หัวเต่าฝังเพชรประดับลูกตามรกตเจียระไนหน้าตัดนูน
ต่างหู Ondulations marines ตัวเรือนเยลโลวโกลด์ ประดับแซฟไฟร์สีม่วงเม็ดเดี่ยวเจียระไนทรงลูกแพร์น้ำหนัก 5 กะรัต ร่วมกับพิงค์แซฟไฟร์เม็ดเดี่ยวเจียระไนทรงลูกแพร์น้ำหนัก 4.55 กะรัต ตกแต่งรายละเอียดด้วยแซฟไฟร์สีม่วง สีชมพู และเพชร
ด้วยแรงบันดาลใจจากความหลากหลายทางสายพันธุ์ของสัตว์ประจำถิ่นในท้องทะเล ต่างหู Ondulations marines อาศัยรูปทรงขดม้วน หรือวงก้นหอยของสัตว์ทะเลกลุ่มซึ่งมีเปลือกแข็งหุ้มปล้องลำตัวที่ง่ายต่อการม้วนตัวอย่างกุ้ง กั้ง หนอนทะเลไปจนถึงม้าน้ำ ด้วยเหตุนี้ เทคนิคบั้งลายหยักฟันปลาหรือ ramolayé (ราโมลาเย) ซึ่งประกอบไปด้วยงานค้อนดุนลาย งานสลักลายร่อง และขัดผิว จึงมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความสมจริงตามธรรมชาติมาสู่ชิ้นงาน และลูกเล่นอสมมาตรทางเฉดสี ถูกนำมาใช้กับต่างหูคู่นี้อย่างแยบคาย
องก์ที่ 3 ล่าสมบัติ หรือ The treasure hunt:
เข็มกลัด Carte au trésor (แผนที่ขุมทรัพย์) ตัวเรือนเยลโลวโกลด์และโรสโกลด์ประดับทับทิมกับเพชร
Van Cleef & Arpels นำจินตนาการในวัยเด็กของหลายคนมาสู่การสร้างสรรค์เข็มกลัด Carte au trésor ด้วยศิลปะเครื่องทองจำลองม้วนแผนที่รัดเชือกเกลียวทิ้งชายเป็นพู่ระย้าแกว่งไกวสองสาย ในขณะที่ม้วนแผนที่อาศัยงานหล่อแบบถ่ายทอดทุกรายละเอียด ทั้งอักขระลายแทง ทั้งรอยพับจากการถูกมัด พู่ระย้าปลายเชือกทั้งสอง ก็มอบความวิจิตรประณีตจากสายริ้วทองที่เคลื่อนไหวอย่างอ่อนช้อย
ทั้งหมดนี้นั้นเป็นเพียงบางส่วนจากชิ้นงานเครื่องประดับชั้นสูงอันงดงามตระการตาในคอลเลกชั่น Treasure Island จาก Van Cleef & Arpels โดยสำหรับคอลเลกชั่นนี้ยังมีภาพประกอบที่สร้างสรรค์โดย David B. หรือ ปิแอร-ฟรองซัวส์ ดาวิด์ โบชารด์ เกิดในเมืองนีมส์ ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1959 ปัจจุบัน เขาเป็นทั้งจิตรกรนิยายภาพการ์ตูน และนักประพันธ์
“ในงานวาดภาพประกอบบรรดาผลงานสร้างสรรค์ของคอลเลกชันเครื่องประดับชั้นสูง Treasure Island by Van Cleef & Arpels เมซงให้อิสระแก่ผมอย่างเต็มที่ในการตีความ และถ่ายทอดมุมมองที่ผมมีต่อโลกของโรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน” David B.