บาซาร์พามาพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาตราจารย์ทัศน์ฐรสชง ศรีกุลกรณ์ หัวหน้าภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ มหาวิทยาลัย ศิลปากร และ คุณศรัณญ อยู่คงดี ผู้ก่อตั้งและนักออกแบบเครื่องประดับแบรนด์ Sarran เกี่ยวกับเรื่องราวความน่าสนใจของเครื่องประดับไทยในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ในฐานะที่เคยเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ใหม่ ผู้ช่วยศาตราจารย์ทัศน์ฐรสชง ศรีกุลกรณ์ เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ที่ภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และในฐานะที่เคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุยอยู่หลายครั้งกับคุณ ศรัณญ อยู่คงดี เมื่อหลายปีก่อน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแบรนด์ Sarran จนเป็นแบรนด์เครื่องประดับไทยที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ทำให้ครั้งนี้อยากลองชวนทั้งสองท่านมานั่งพูดคุยพร้อมกันเกี่ยวกับเรื่องราวว่าด้วยประวัติศาสตร์การเดินทางของเครื่องประดับไทยจากยุคสมัยโบราณ สู่เครื่องประดับร่วมสมัย และมุมมองเกี่ยวกับอนาคตของอุตสาหกรรมการผลิตและออกแบบเครื่องประดับของไทย
Harper’s BAZAAR: ก่อนอื่นอยากรบกวนให้อาจารย์ใหม่ช่วยเล่าถึงประวัติศาสตร์จุดเริ่มต้นของเครื่องประดับไทยในอดีตที่มีความโดดเด่น รวมถึงอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง
อาจารย์ใหม่: ถ้าในประวัติศาสตร์ต้องยกให้สมัยอยุธยาเป็นศูนย์กลางทางการค้า เป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองทั้งทางเศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรม โดยสิ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคนี้ก็คือ ทองคำ ซึ่งเป็นทั้งเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย เป็นทรัพย์สมบัติของมีค่า เป็นเครื่องบ่งบอกสถานะชนชั้นทางสังคม รวมถึงใช้เป็นเครื่องบรรณาการ โดยจากบันทึกของชาวตะวันตก อยุธยาเรียกได้ว่าเป็นตลาดทองคำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย ทั้งที่จริงๆ แล้วอยุธยาเองก็ไม่ได้มีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างสายแร่ทองคำอะไรมากมายเป็นพิเศษ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าทองคำนั้นถูกนำมายังอยุธยาจากทั่วโลก และถูกแปรเปลี่ยนเป็นข้าวของเครื่องใช้ รูปปั้น พระพุทธรูป รวมถึงเครื่องประดับ โดยช่างฝีมือชาวอยุธยา โดยรูปลักษณ์ก็สะท้อนมาจากรสนิยมของยุคสมัย ซึ่งได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่มาจากอินเดียทั้งในแง่ของการแต่งกาย และการใช้เครื่องประดับในหมู่ชนชั้นสูงที่เลียนแบบรูปปั้น เทวรูปต่างๆ เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ที่เริ่มมีการเปิดประเทศ และมีการรุกรานล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก นำมาสู่จุดกำเนิดของเครื่องราชอิสริยยศ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งคือเครื่องประดับที่ใช้ตกแต่งเสื้อผ้า เพื่อแสดงยศศักดิ์ ฐานันดร หรือตำแหน่งหน้าที่ของผู้ใช้ โดยมีแบบอย่างมาจากชาวยุโรปเมื่อหลายร้อยปีก่อน ในเอเชีย สยามถือเป็นประเทศแรกที่มีการใช้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามอย่างสากล เพื่อแสดงถึงความเจริญทางวัฒนธรรม และต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในสมัยรัชการที่ 5 โดยในสมัยนี้เองที่เครื่องประดับเริ่มมีตำแหน่งแห่งหน มีรูปแบบในการใช้งานที่ชัดเจนและแพร่หลายมากขึ้น
HBZ: และถ้าให้พูดถึงเรื่องของความพิเศษในแง่ของงานช่างทอง ช่างเครื่องประดับของไทย คิดว่ามีเทคนิคไหนที่น่าสนใจบ้าง
อาจารย์ใหม่: จริงๆ รากฐานงานโลหะของทุกเชื้อชาติจะมีจุดเริ่มต้นที่คล้ายกันอย่างเทคนิคการขึ้นรูปด้วยการดัดลวด จะแตกต่างกันบ้างในเรื่องของลวดลายพันธ์ุแมกไม้ในธรรมชาติของแต่ละภูมิประเทศที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในงานออกแบบ รวมถึงเรื่องของการใช้เปอร์เซ็นต์ทองที่แตกต่างกัน อย่างงานช่างทองของไทยในอดีตมักใช้ทองเปอร์เซ็นต์สูง ที่สามารถรีดเป็นแผ่นบางๆ ใช้ในแปะตกแต่งของต่างๆ รวมถึงการแกะสลักดุนลาย หรือที่ตะวันตกเรียกว่าเทคนิค Repoussé นอกจากนี้เราก็ยังมีเทคนิคโบราณที่เรียกว่า ‘กะไหล่ทอง’ คือการใช้ปรอทมาละลายทองคำหรือเงิน แล้วทาเคลือบลงบนผิวของโลหะ และค่อยไล่ปรอทออกโดยการใช้ความร้อน
HBZ: มาที่ฝั่งงานเครื่องประดับร่วมสมัย อยากให้ทางคุณ ศรัณญ ช่วยแชร์ให้เราฟังถึงที่มาของแรงบันดาลใจของแบรนด์ Sarran ว่าได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมความเป็นไทยในแง่ไหน แขนงไหนมากน้อยเพียงใดบ้าง
ศรัณญ: ส่วนตัวผมเป็นคนที่ชื่นชอบของสวยๆ งามๆ ที่มีดีเทลรายละเอียด งานดีไซน์ของผมส่วนใหญ่มักจะได้แรงบันดาลใจมาจากภาพจิตรกรรมไทย รวมถึงของโบราณอย่างเครื่องประดับ พัสตราภรณ์ เครื่องเคลือบ เครื่องลายครามในวัดพระแก้ว ดีไซน์ในยุคแรกๆ ของผมก็แสดงออกมาถึงความเป็นไทยกึ่งดั้งเดิมอย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะมีดีเทลที่ค่อนข้างเยอะ และหลังจากนั้นก็ค่อยๆ มีการลดทอนให้มีความโมเดิร์นร่วมสมัยยิ่งขึ้น โดยผมเรียกงานของผมว่า ‘Art to Wear’ หรืองานศิลปะที่สวมใส่ได้ ผมนำเสนอความเป็นไทยที่พิเศษด้วยการผสมผสานเรื่องราวส่วนตัวเข้าไป อย่างเรื่องของคุณแม่ของผมเองที่ทำให้ผมได้สัมผัสคุ้นชินเติบโตมากับงาน คหกรรม อย่างการร้อยมาลัย การอบร่ำ อัตลักษณ์ของแบรนด์เลยว่าด้วยการผสานวิถีชีวิตของผู้หญิงไทยในอดีตเข้ากับการนำเสนอภาพของผู้หญิงสมัยใหม่ในเชิงบวกและสร้างสรรค์
HBZ: และสำหรับภาพรวมของงานออกแบบเครื่องประดับไทย คิดว่าเรามีความพิเศษโดดเด่นด้านไหน อย่างไรบ้าง
อาจารย์ใหม่: จริงๆ สำหรับคนไทย ก็อย่างที่ศรัณญบอก เรามีความละเมียดละไมในการใช้ชีวิตมาตั้งแต่สมัยโบราณ สิ่งนี้เองก็อาจจะส่งผลทำให้เราเป็นคนที่ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และกลายมาเป็นจุดเด่นของทั้งผู้ผลิต และนักออกแบบไทย ครั้งหนึ่งประเทศไทยเราเคยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตเครื่องประดับที่สำคัญของโลก และรายได้จากการส่งออกเครื่องประดับเคยขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เหตุนี้เองก็เป็นที่มาและจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งภาควิชาออกแบบเครื่องประดับของมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อผลิตนักออกแบบให้เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ซึ่งปัจจุบันก็เปิดสอนทั้งหลักสูตรปริญญาตรี และปริญญาโท โดยในสองปีข้างหน้าก็ยังมีแผนที่จะเปิดหลักสูตรปริญญาเอกอีกด้วย
HBZ: คำถามสุดท้ายอยากให้ทั้งสองท่านแชร์มุมมองเกี่ยวกับอนาคตของวงการเครื่องประดับไทย
อาจารย์ใหม่: การให้ความสำคัญกับความยั่งยืนนั้นนอกจากเรื่องของแหล่งที่มาของวัสดุ นวัตกรรมขั้นตอนการผลิต การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังอยากให้ผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นกับเรื่องของคน อย่างการบริหารจัดการดูแล และพัฒนาแรงงานช่างฝีมือในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับของไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ศรัณญ: ส่วนผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นการสนับสนุนช่วยเหลือที่มากขึ้นจากหลากหลายภาคส่วน ในการให้โอกาสกับนักออกแบบเครื่องประดับรุ่นใหม่ในเรื่องของการสร้างพื้นที่ ทั้งเวทีการประกวดที่เปิดกว้าง พื้นที่จัดแสดงผลงาน และการต่อยอด สร้างอนาคตที่ต่อเนื่อง