Thursday, October 3, 2024
More

    ผลงานดีไซน์ร่วมกันระหว่าง SARRAN แบรนด์เครื่องประดับสัญชาติไทย และ Chuni Dorji Privé แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติภูฏาน

    on

    - Advertisement -

    ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ราชอาณาจักร ไทย – ภูฏาน กับความร่วมมือเพื่อออกแบบคอลเลกชั่นสุดพิเศษจาก Chuni Dorji Privé แบรนด์ท้องถิ่นระดับลักซ์ชูรีของประเทศภูฏาน และ ศรัณญ อยู่คงดี นักออกแบบเครื่องประดับชาวไทย เจ้าของแบรนด์ SARRAN ที่เคยได้รับทั้งรางวัลด้านการออกแบบ และความยั่งยืน ภายใต้แรงบันดาลใจจากมรดกทางวัฒนธรรมอันรุ่มรวย รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่โอบกอดประเทศบนเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ โดยทั้งผลงานการออกแบบเสื้อผ้า และเครื่องประดับในคอลเลกชั่นพิเศษนี้ ได้จัดแสดงเป็นแฟชั่นโชว์ที่โรงแรม ศิวา ลิงค์ (Zhiwa Ling Hotel) ที่เมืองพาโร สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับทุกคนที่เข้าร่วมงาน

    ความร่วมมือในการสร้างสรรค์งานศิลป์ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศภูฏาน (Bhutan’s Department of Tourism) ผ่านโครงการ กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (GEF Ecotourism) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดบทสนทนาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพสู่ภาคการท่องเที่ยวของภูฏานอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นผลจากความพยายามตลอดทั้งปีนี้ เพื่อเน้นย้ำถึงฝีมืออันยอดเยี่ยมในด้านการออกแบบของดีไซเนอร์จากทั้งประเทศไทยและภูฏาน ผลงานของแบรนด์ Chuni Dorji Privé เข้ากันได้ดีกับคอลเลกชันเครื่องประดับจากแบรนด์ SARRAN แสดงให้เห็นถึงการหยั่งรากลึกในแก่นแท้ของความงามตามธรรมชาติ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สิ่งแวดล้อม และมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศภูฏาน

    เครื่องประดับจาก SARRAN ในคอลเลกชั่นนี้ นำเสนอเรื่องราวภายใต้ธีม DRAGON IN THE SKY ให้สมกับสมญานาม ดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า ตามตำนานกำเนิดประเทศภูฏานที่เชื่อกันว่ามังกรสายฟ้าเป็นผู้สร้างดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ โดย ศรัณญ อยู่คงดี ได้ถ่ายทอดความบริสุทธิ์ของธรรมชาติในคอลเลกชั่นนี้ผ่านสีฟ้า ซึ่งได้มาจากสีของดอกบลูป๊อปปี้ (Blue Poppy) ดอกไม้ประจำชาติภูฏานที่ได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีดอกไม้แห่งเทือกเขาหิมาลัย และเบ่งบานในธรรมชาติบนพื้นที่สูงกว่า 3,000 ฟุต แบรนด์ SARRAN ยังหยิบยกความเชื่อจากสโลแกนของประเทศ ‘BELIEVE’ ซึ่งสะท้อนคติเกี่ยวกับวัฒนธรรม อารยธรรม จิตวิญาณแห่งดินแดนสรวงสวรรค์ จนสร้างสรรค์ออกมาผ่านชิ้นงานที่เป็นมาสเตอร์พีซอย่าง ‘มังกรสีทอง’

    กว่าหนึ่งปีของการทำงานในโปรเจ็คท์นี้ SARRAN และ Chuni Dorji Privé ได้ร่วมกันจัดแฟชั่นโชว์อย่างยั่งยืนเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2567 ที่โรงแรมศิวา ลิงค์ ในเมืองพาโร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองปีที่ 50 ของการท่องเที่ยวภูฏาน และเป็นครั้งแรกของประเทศที่เกิดความร่วมมือกับดีไซเนอร์ระดับนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นเวทีในการแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์และงานฝีมือแบบภูฏานกับคนทั่วโลก โดยสะท้อนถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่เปิดรับการออกแบบร่วมสมัย

    สำหรับการสร้างสรรค์จากแบรนด์ Chuni Dorji Privé ได้นำเสนองานปัก และเพ้นท์สีด้วยมือ ผสมผสานประเพณีและความทันสมัยของภูฏานได้อย่างลงตัว ชิ้นงานทำจากทั้งผ้ากำมะหยี่ชั้นดี ผ้าพัชมีนา และหนังแนปป้าที่หาได้ในประเทศ ด้วยลวดลายแบบภูฏานอันเป็นโดดเด่น และหาจากที่อื่นไม่ได้ เสื้อผ้าของ Chuni Dorji Privé  จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ให้ความรู้สึกถึงค่านิยมแบบดั้งเดิม แต่ก็ทันสมัยในเวลาเดียวกัน

    มร. ดัมโช รินซิน (Damcho Rinzin) ผู้อำนวยการกรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศภูฏาน กล่าวว่า “ภูฏานมีศิลปิน และนักออกแบบที่มีฝีมืออีกมากซึ่งควรมีพื้นที่ในการแสดงความสามารถ และผลงานสร้างสรรค์ของพวกเขา สำหรับโปรเจ็คท์นี้ เราใช้เวลาในการพูดคุยกันนานเกือบปี จนในที่สุดพวกเราก็ทำให้ความร่วมมือระหว่าง SARRAN และ Chuni Dorji Privé เกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของการท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่เรากำลังจะเฉลิมฉลองปีที่ 50 ของการท่องเที่ยวภูฏาน นี่เป็นหมุดหมายที่ภูฏานจะได้แสดงความงดงามของศิลปะท้องถิ่น รวมถึงศาสตร์ของการออกแบบ ให้คนทั้งโลกได้เห็น”

    สำหรับ ศรัณญ อยู่คงดี เป็นนักออกแบบเครื่องประดับชาวไทยที่สร้างสรรค์ผลงานอันสวยงามโดดเด่น และเคยได้รับรางวัลที่ยกย่องถึงความมุ่งมั่นในด้านความยั่งยืน โดยทุกองค์ประกอบของแบรนด์ SARRAN ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความความเชื่อมโยงต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นธรรมชาติ

    เกี่ยวกับ สภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศภูฏาน

    สภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศภูฏานมีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในภูฏาน เป็นองค์กรซึ่งทำหน้าที่เผยแพร่ความงดงามของสถานที่ ผู้คน และประสบการณ์ในราชอาณาจักรแห่งนี้ ให้กับนักท่องเที่ยวโดยยึดหลักการรับนักท่องเที่ยวปริมาณน้อย เพื่อให้ได้สัมผัสคุณค่าและประสบการณ์สูงสุด

    เกี่ยวกับ ภูฎาน บีลีฟ” (Bhutan Believe)

    ภูฎาน บีลีฟเป็นแบรนด์และสโลแกนใหม่ของประเทศภูฏาน เน้นย้ำความเชื่อของประเทศเรื่องอนาคตที่ดีกว่า น้อมนำโดยภูมิปัญญาจากคนรุ่นเก่า บีลีฟเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อในอนาคตของภูฏาน เช่นเดียวกับศักยภาพ ความเป็นไปได้ และโอกาสที่ภูฏานนำเสนอให้กับโลกที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเกี่ยวกับการเชื่อในคุณค่า ความสามารถ การมีส่วนร่วมและศักยภาพของพลเมืองของประเทศ

    ผู้มีโอกาสมาเยือนประเทศภูฏานต่างสรุปความหมายของ ภูฎาน บีลีฟด้วยใจความว่า: “เราเห็นอนาคตที่สดใส และเราเชื่อในความสามารถและความรับผิดชอบในการบรรลุเป้าหมายร่วมกันของเรา ซึ่งส่องประกายเป็นสัญญาณแห่งความเป็นไปได้ภายใต้โลกใบนี้

    ความหวังคือการเป็นในสิ่งที่เราเชื่อ เราถูกขอให้เชื่อมั่นในตนเอง คุณค่าของเรา ในอนาคตของภูฏาน ด้วยความหวังและความเชื่อมั่น

    เกี่ยวกับ วีซ่าและค่าธรรมเนียมเพื่อการพัฒนาความยั่งยืน

    การยื่นขอวีซ่าหรือใบอนุญาตไปภูฏานนั้นสามารถทำได้ง่ายดาย นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องมีวีซ่าและใบอนุญาตก่อนเดินทางไปภูฏานโดยสมัครทางออนไลน์หรือผ่านทางบริษัททัวร์ภูฏาน โดยใช้เวลาประมาณ 5 วันในการดำเนินการ ยกเว้นนักท่องเที่ยวจากอินเดีย     มัลดีฟส์และบังคลาเทศที่สามารถยื่นขอ ณ วันที่เดินทางมาถึงได้

    ผู้มาเยือนทุกคนจะต้องชำระค่าธรรมเนียมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Fee – SDF) ของภูฏานเป็นจำนวน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อคืน (มีอัตราลดหย่อนสำหรับเด็ก) และค่าธรรมเนียมในการขอวีซ่าจำนวน 40 ดอลลาร์สหรัฐ จะใช้ได้เพียงหนึ่งครั้ง และไม่สามารถขอคืนได้ สำหรับชาวอินเดียจะต้องชำระค่า SDF เป็นจำนวน 1,200 รูปีต่อคนต่อคืน

    ค่าธรรมเนียมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDF) จะถูกนำมาใช้เป็นทุนสนับสนุนโครงการด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษาทั่วประเทศภูฏาน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: www.bhutan.travel