เดินทางสู่หมู่เกาะนูซา เปนิดา (Nusa Penida) ซึ่งประกอบไปด้วยนูซา เล็มบองกัน และนูซา เซนิงกัน อันเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ของปะการังและสัตว์ทะเลนานาชนิด ตั้งอยู่ในพื้นที่ สามเหลี่ยมปะการัง (Coral Triangle) ซึ่งเป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลระดับโลกที่ครอบคลุมน่านน้ำทั่วฟิลิปปินส์ ติมอร์เลสเต หมู่เกาะโซโลมอน และอินโดนีเซีย ความสำคัญทางธรรมชาติของหมู่เกาะนูซา เปนิดา นั้นได้รับการปกป้องและดูแลโดยพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Area – MPA) ขนาดกว่า 20,057 เฮกตาร์ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือระหว่างองค์กรอนุรักษ์ระดับโลกอย่าง Rolex ผ่านโครงการ Perpetual Planet Initiative และ Mission Blue Hope Spot โดยพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยปะการังหลากหลายสายพันธุ์กว่า 300 ชนิด รวมทั้งปลามากกว่า 570 สายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นปลากระเบนราหูและปลาพระอาทิตย์ ซึ่งนอกจากจะมีความสำคัญทางชีวภาพแล้ว ยังเป็นแหล่งรายได้หลักจากการท่องเที่ยวและอาชีพประมงให้กับชาวเกาะกว่า 48,000 คน
Rili Djohani ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร Coral Triangle Center (CTC) และ Wira Sanjaya ผู้จัดการโครงการ CTC ประจำบาหลี คือสอง Hope Spot Champion ผู้ขับเคลื่อนสำคัญที่ได้รับการสนับสนุนจาก Mission Blue และโครงการ Perpetual Planet ผู้ซึ่งช่วยขยายบทบาทของชุมชนให้กลายเป็นผู้พิทักษ์ท้องทะเลอย่างยั่งยืน โครงการของพวกเขาครอบคลุมตั้งแต่การแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ใน MPA เพื่อการท่องเที่ยว การทำฟาร์มสาหร่าย และพื้นที่อนุรักษ์ ไปจนถึงการสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับชาวบ้านในวิถีที่เคารพต่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยหนึ่งในโครงการสำคัญคือการฟื้นฟูป่าชายเลน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกตัดทอนเพื่อนำมาใช้เป็นไม้ก่อสร้าง Djohani และทีมงานได้รณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญของป่าชายเลนต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และประโยชน์ในการป้องกันการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การฟื้นฟูนี้รวมไปถึงการปลูกต้นกล้าป่าชายเลนกว่า 10,000 ต้น โดยมีส่วนร่วมจากชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก นอกจากนี้ยังได้มีการปลูกปะการังกว่า 6,000 กิ่ง ในพื้นที่กว่า 240 ตารางเมตร เพื่อช่วยฟื้นฟูแนวปะการังที่เสียหายไป เพื่อให้การอนุรักษ์กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต Djohani ได้ริเริ่มนำศิลปะพื้นบ้านอย่าง Wayang หรือการแสดงหุ่นเงาที่มีลักษณะคล้ายกับหนังตะลุงของไทยมาเพื่อช่วยสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาเกี่ยวกับขยะทะเลและพลาสติก โครงการนี้ไม่เพียงแต่เข้าถึงได้กับคนทุกวัย แต่ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย
โครงการ Perpetual Planet Initiative โดย Rolex เป็นความพยายามในการสร้างความเข้าใจถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดยได้สนับสนุนงานของ Mission Blue และองค์กรอื่น ๆ ในการอนุรักษ์ธรรมชาติทั่วโลก ด้วยเป้าหมายที่จะผลักดันให้ภาครัฐของอินโดนีเซียปกป้องผืนน้ำมากขึ้นถึง 30% ของพื้นที่ทั้งหมด Nusa Penida Hope Spot และผลงานของ Djohani เป็นหนึ่งในแบบอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนนั้นเป็นไปได้ด้วยความร่วมมือกันกับชุมชนอย่างสอดผสานบนรากฐานของความเข้าใจร่วมกันอย่างแท้จริง