Thursday, October 3, 2024
More

    เมื่อยุคแห่งลายเส้นการ์ตูนที่ผันแปรเป็นงานศิลปะสายหลัก พาทำความรู้จักผลงานศิลปะแนว ‘Pop Art’ ศิลปะที่มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดในยุคหนึ่ง

    on

    - Advertisement -

    จะเห็นได้ว่านิทรรศการศิลปะช่วงนี้ ผลงานลายเส้นสไตล์การ์ตูน หรือศิลปะแนว Pop Art จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ จนทำให้เราเริ่มตระหนักได้ว่าเรากำลังก้าวไปสู่อีกยุคหนึ่งของศิลปะที่มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดในยุคหนึ่ง บาซาร์พาคุณย้อนดูนิทรรศการหลายงานที่ล้วนแล้วแต่มีลายเส้นที่ดูเรียบง่าย สนุกสนาน แต่ซ่อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้วาดซึ่งต่างก็เป๋นผู้ใหญ่ไว้ได้อย่างแยบคายโดยมีทั้งนิทรรศการที่เพิ่งผ่านพ้นไปและที่กำลังจัดแสดงอยู่ 

    Beyond The Last Miles

    By Zhang Zhanzhan 

    ในสังคมของเราทุกวันนี้ เราต่างก็พยายามเรียนรู้ที่จะหาความสุขยามที่ต้องอยู่อย่างสันโดษ ว่ากันว่าความโดดเดี่ยวนั้นจะทำให้ภายนอกเราแข็งแกร่งขึ้น แต่หัวใจจะเต็มไปด้วยความนุ่มนวลและจริงใจ Zhag Zhanzhan ได้ถ่ายทอดความรู้สึกของเขาผ่านผลงานลวดลายการวาดการ์ตูนอันเป็นเอกลักษณ์ แม้จะดูว่าเข้าถึงผู้คนได้ง่าย แต่ในงานของเขาก็ได้เพิ่มเติมองค์ประกอบต่างๆ ให้ผลงานมีความลึกซึ้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโทนสีหรือการจัดแสงที่เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปินยุคคลาสสิก เขาได้ใช้ความกล้าในการตัดทอนรายละเอียดตกแต่งที่ไม่จำเป็นออกและหันไปเน้นการใช้การสื่อสารทางศิลปะที่เรียบง่าย กระชับ และสามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างเต็มที่ แม้เราจะไม่สามารถคาดเดาเรื่องราวเบื้องหลังต่าง ๆ ผ่านการมองหน้าตัวละครเหล่านี้ได้ แต่ความสันโดษของพวกกลับแผ่ความอบอุ่นและความสุขมาให้ผู้ชมได้รู้สึกอย่างแผ่วเบา

    Who’s Cutting Onions

     By Tum Ulit

    สำหรับ Who’s Cutting Onions แล้ว นี่คือนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ Tum Ulit ศิลปิน นักวาดการ์ตูน และนักเล่าเรื่องผู้ถ่ายทอดความเหงา ความเศร้า และความรู้สึกออกมาเป็นภาพวาดลายเส้นปี่ยมเอกลักษณ์ ซึ่ง Who’s cutting onions นั้นมาจากสำนวนที่เป็นคำแก้ต่างเมื่อเราแสดงความเสียใจกับบางสิ่งแต่อยากปกปิดความจริงเอาไว้ เหมือนคนที่ร้องไห้แต่แกล้งพูดว่าว่าใครปอกหัวหอมกันนะ เพราะหัวหอมนั้นจะทำให้น้ำตาไหลเช่นกัน ไม่ใช่ว่าตัวเขาเองรู้สึกเศร้าแต่อย่างใด ในผลงานกว่า 30 ชิ้น ครั้งนี้  Tum Ulit จึงได้สร้างโลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยกลีบชั้นอันบอบบางคล้ายกับหัวหอม โลกที่เต็มไปด้วยความรู้สึกอันซับซ้อน และอ่อนไหว การที่ต้องเดินลึกเข้าไปในโลกใบนี้ทีละชั้น ๆ ก็เหมือนกับการเดินทางผ่านชั้นของหัวหอมที่ยิ่งปอกลึกลงไปเท่าไหร่ อานุภาพของหัวหอมก็ยิ่งรุนแรง ร้าวราน จนอาจทำให้ต้องเสียน้ำตานั่นเอง

    Bring to Light

    By Chloé Kelly Miller

    Chloé Kelly Miller คือศิลปินหญิงรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาด้านจิตวิทยาและมีความบกพร่องทางการได้ยิน ผลงานของเธอเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนทั่วไปจากการการจัดแสดงผลงานชุด ‘Sublimation’ ที่ Carrousel du Louvre ในกรุงปารีส และล่าสุด Bring to Light ก็เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในประเทศไทยของเธอ ความแตกต่างทางกายภาพทำให้ Chloé เอาสิ่งนี้มาสร้างจุดแข็งของเธอ โดยการดำดิ่งลงไปในรากเหง้าและมรดกทางวัฒนธรรมของเธอในฝรั่งเศสผ่านการศึกษา ‘ยุคเรืองปัญญา’ (Age of Enlightenment) โดยสำรวจแนวคิดที่หลากหลายเกี่ยวกับ ‘แสง’ จากเสน่ห์ลึกลับไปจนถึงความหมายเชิงสัญลักษณ์ ที่ภายหลังได้กลายเป็นศูนย์กลางในผลงานของเธอ รวมไปถึงการก้าวข้ามขอบเขตของสาขาวิชาและนิยามต่างๆ ในทัศนศิลป์ที่เธอตระหนักได้ว่า แสงไม่เพียงแต่เป็นปรากฏการณ์ทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นพลังลึกซึ้งที่กำหนดการรับรู้และความเป็นจริงอีกทางหนึ่งด้วยนั่นเอง

    Tears

    By Puck

    ไตรภัค สุภวัฒนา หรือ Puck  ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของ Tears ที่แปลความหมายตรงตัวว่า น้ำตา โดยเขาได้พาเราย้อนกลับไปยังช่วงชีวิตการเป็นนักเขียนการ์ตูนเมื่อ 17 ปีก่อน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ไม่ได้ด้วยกลีบกุหลาบแต่อย่างใด ผ่านผลงานในนิทรรศการ ‘Blood Sweat Tears and Ink: Back to the Comics’ ที่เขาเป็น 1 ใน 4 ศิลปินที่ได้ร่วมงานครั้งนั้น Puck ตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวความเจ็บปวดในชีวิตของนักเขียนการ์ตูนที่มีความยากลำบากและหยิบเอาความรู้สึกนี้ออกมาถ่ายทอดในรูปแบบการ์ตูนที่บอกเล่าเรื่องราวการแบกความฝันความหวังโดยการออกตามหาดอกไม้ที่เป็นตัวแทนของความฝันสักดอกหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าลึก โดยไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้วปลายทางนั้นจะเป็นอย่างไร

    Blood

    By Aphisit Muennak

    ศิลปิน 1 ใน 4 ที่มีรายชื่ออยู่ในนิทรรศการ ‘Blood Sweat Tears and Ink: Back to the Comics’ คือ อภิสิทธิ์ หมื่นนาคที่ถ่ายทอดผลงานออกมาในหัวข้อ Blood ที่แปลว่า เลือด สิ่งที่หล่อเลี้ยงคนที่เป็นนักเขียนการ์ตูนให้ได้มีพลังใจที่จะทำงานต่อไป อภิสิทธิ์ได้บอกเล่าเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับหนังสือการ์ตูน ตั้งแต่เริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ได้เจอเพื่อนและประสบการณ์ใหม่ๆ อภิสิทธิ์ได้เขียนการ์ตูนรวมเล่มกับศิลปินรุ่นพี่นักเขียนการ์ตูนอีก 3 ท่าน ที่บอกเล่าเรื่องราวของเลือดที่สื่อได้ถึงกำลังใจและพลังชีวิตที่นักเขียนการ์ตูนทุกคนน่าจะต้องการ เพราะการเขียนการ์ตูนนั้นเหนื่อยยาก และเมื่อได้รับกำลังใจจากใครสักคนที่เขาเห็นคุณค่าในการทำงานของเรา นั่นคือสิ่งที่มีทำให้นักเขียนเหล่านี้มีกำลังใจ โดยในการ์ตูนเรื่อง Blood มีเรื่องราวเกี่ยวกับ Puck ไตรภัค สุภวัฒนา รวมอยู่ด้วยเช่นกัน